ท่องเที่ยวสุโขทัยไปกับผู้จัดทำ

เมื่อกลับจากศรีสัชนาลัยในตอนเย็นของวันเดียวกัน เราก็ไม่เสียเวลา เราจึงได้เริ่มภารกิจต่อไป คือการเดินทางไปชมโบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองของ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พร้อมแล้วไปกันเลยครับ

ที่แรก คือ สรีดภงส์ หรือทำนบพระร่วง สถานที่กักเก็บน้ำของชาวสุโขทัยโบราณ ใช้จะนำน้ำจากที่แห่งนี้ผันเข้าไปใช้ในเมือง โดยผ่านคลองเสาหอ

ต่อมาคือ วัดมังกร วัดนี้มีจุดเด่นที่มีการพบรูปปั้นมังกรจากเซรามิกที่นำมาตกแต่ง และมีรั้วล้อมที่ทำจากเซรามิกเช่นกัน

ที่นี่ประทับใจที่สุด เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ชื่อว่า วัดสะพานหิน ทางขึ้นวัดเป็นเนินสูงที่ปูทางเดินด้วยหิน เราภึงที่นี่ค่อนข้างเย็ยมาก บรรยากาศจึงโพล้เพล้ไปหน่อย(555)แต่ก็รู้สึกถึงความสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง

จากนั้นเรากลับเข้าที่พักของเราที่โรงแรมสุโขทัยออคิดส์ เพื่อพักผ่อนก่อนพรุ่งนี้จะเริ่มภาระกิจต่อไป

เช้าวันใหม่อันสดใสเริ่มต้นที่วัดศรีชุม ตั้งอยู่นอกเมือง วัดนี้น่าตื่นตาตื่นใจมาก เพราะสิ่งแรกที่เห็นคือ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ นามว่า พระอจนะ ตั้งอยู่ในมณฑปขนาดใหญ่เด่นสง่าอยู่กลางวัด

ที่ถัดมาคือวัดพระพายหลวง ที่มีพระปรางค์คล้ายศิลปะขอมอยู่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยในอดีตที่ขอมเรืองอำนาจมามีอิทธิพลเหนือดินแดนแถบนี้

ต่อมาเรากลับเข้ามาเพื่อจะเข้าชมโบราณสถานภายในเขตกำแพงเมือง โดยเริ่มจากที่ทุกคนต้องหาเช่าจักรยานคู่ใจ ในราคาคันละ ๒๐ บาท

จากนั้นถ่ายรูป ณ ป้ายอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แสดงว่าพวกเราได้มาถึงแล้ว

จากนั่งพร้อมลุย ซิ่ง แว๊น ตามสบายโดยจุดหมายที่แรก คือ วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สิ่งที่สำคัญของวัดนี้ คือ พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม(พุ่มข้าวบิณฑ์) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวของศิลปะสุโขทัยแท้ๆ

ถัดมาที่วัดศรีสวายที่มีพระปรางค์คล้ายของขอม เช่นเดียวกับที่วัดพระพายหลวง

วัดถัดมาคือ วัดตระพังเงิน วัดที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ มีพระอุโบสถกลางน้ำเพื่อใช้ประกอบในพิธีกรรมการบวชพระใหม่ ด้วยมีความเชื่อว่าถ้าทำบนแผ่นดิน นั้นจะไม่มีความบริสุทธิ์สะอาดหมดจด จึงไปทำที่กลางน้ำาพราะจะบริสุทธื์กว่าบนแผ่นดิน

พระอุโบสถกลางน้ำของวัดตระพังเงิน ใช้ในการประกอบพิธีกรรมบวชพระใหม่ตามคติความเชื่อจากลังกา

วัดต่อมาคือ วัดสระศรี หรือตระพังตระกวน วัดนี้มีลักษณะคล้ายกับวัดตระพังเงิน มีพระอุโบสถกลางน้ำเช่นเดียวกัน

วัดต่อมาคือ วัดชนะสงคราม วัดที่มีเจดีย์ทรงลังกาเด่นสง่าเป็นประธานของวัด อยู่เยื้องกับพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำดหงมหาราช สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้ก็คือ มณฑปทรงปราสาท ที่มีลักษณะคล้ายกับซุ้มที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทองที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เจดีย์ในลักษณะนี้จะพบเห็นในไม่กี่แห่ง เฉพาะในเขตจังหวัดสุโขทัย และลงมาใต้สุดถึงที่กำแพงเพชรเท่านั้น

สุดท้ายก่อนกลับ ต้องสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นการปิดการไปทัศนศึกษาที่น่าประทับใจ

โพสท์ใน Uncategorized | ใส่ความเห็น

เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม (พุ่มข้าวบิณฑ์)

                  พระเจดีย์แบบนี้มียอดเป็นรูปดอกบัวตูม หรือเรียกกันว่า ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงทนาฬ
ตั้งอยู่เหนือเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบ ที่เรือนธาตุลางองค์มีการจัดซุ้มพระพุทธรูปยืนทั้ง ๔ ทิศ เช่นที่เจดีย์ วัดตระพังเงิน เมืองสุโขทัย พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูมมีรูปทรงสูงเด่นสง่างาม ฐานชั้นล่างมีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกัน ๓ หรือ ๔ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานแว่นฟ้าซ้อนกันค่อนข้างสูงรองรับเรือนธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ อำเภอเมืองสุโขทัย ที่สำคัญรองลงไปได้แก่ เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูมวัดเจดีย์เจ็ดแถวอำเภอศรีสัชนาลัย นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะพากันยกย่องว่า พระเจดีย์ทรงบัวตูม เป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ที่ศิลปินสุโขทัยคิดแบบอย่างของตนขึ้น พระเจดีย์แบบนี้นิยมสร้างไว้ตามเมืองต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัยเท่านั้น ไม่มีการสร้างต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเลย

พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูมเท่าที่มีหลักฐานปรากฏมีอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัยหลายองค์ด้วยกัน เช่น วัดมหาธาตุ วัดตระพังเงิน วัดซ่อนข้าว วัดทักษิณาราม วัดอ้อมรอบ  วัดอโศการาม และที่อำเภอศรีสัชนาลัย มีปรากฏที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยายน้อย วัดราหู วัดน้อย
เจดีย์ทรงดอกบัวตูมเป็นข้อขบคิดกันมานานว่า มีแรงบันดาลใจจากที่ใด นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะมีแนวคิดเห็นแตกต่างกันหลายทฤษฎี ดังนี้

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า …อาจได้แบบอย่างมาจากเจดีย์จีน (ถะ) แล้วดัดแปลงให้เหมาะสมกับกระบวนการช่างของไทย ด้วยทรงเห็นภาพพระเจดีย์จีนจากที่ฝังศพโบราณในหนังสือ “อินลัสเตรทเต็ด ลอนดอนนิวส์ ” (ค.ศ. 1928) มีลักษณะแบบอย่างคล้ายคลึงอยู่บ้าง ประกอบกับในสมัยสุโขทัยได้มีการติดต่อกับจีนอย่างใกล้ชิด…

         ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี มีความเห็นในแง่ของศิลปว่า … อาจได้รับแบบอย่างมาจากสถาปัตยกรรมแบบ ซาราเซน (Saracenic style) ก็ได้ เพราะมีลักษณะรูปทรงคล้ายคลึงกับยอดสุเหร่า หรือมัสยิด (mosque)ของมุสลิมหรือชาวอาหรับ…
         ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ให้ความเห็นไว้ในบทความเรื่อง “อิทธิพลของอินเดียต่อศิลปไทย ” ในหนังสือ Indian Art & Letters (ค.ศ. 1950) ว่า …โครงสร้างของเจดีย์แบบนี้ดูเหมือนว่าจะมาจากรูปทรงของโกศบรรจุพระบรมอัฐิ…
           นายกริสโวลด์ มีความเห็นไว้ในหนังสือ Towards a History of Sukhodaya Art ว่า
…พญาเลอไทคงจะได้แบบอย่างมาจากเจดีย์จำลองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของลังกา ซึ่งมีดอกบัวตูม…
             อาจารย์จิตร(ประกิต) บัวบุศย์ มีความเห็นตามแนวทางพุทธปรัชญามหายานในหนังสือ ประวัติย่อพระพิมพ์ในประเทศไทย ว่า …การสร้างเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ได้รับอิทธิพลมาจากนิกายสุขาวดี จากน่านเจ้า ซึ่งไทยน่านเจ้าลางกลุ่มนำลงมาเผยแพร่ไว้ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๐๐-๑๖๐๐
              ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ มีความเห็นว่า … คงมาจากทรงของยอดปราสาทแบบขอม.. ฯลฯ

โพสท์ใน เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ | ใส่ความเห็น

เครื่องถ้วยสังคโลกสุโขทัย

               เครื่องสังคโลกสุโขทัย

                 เครื่องปั้นดินเผา เป็นวัฒนธรรมเชิงหัตถศิลป์ที่สืบทอดให้เราผู้เป็นอนุชนได้สืบเนื่องความคิดของบรรพชนของเรา และพัฒนาจนมาเป็นเครื่องใช้ไม้สอยที่ทันสมัยจนทุกวันนี้ สุโขทัยเป็นแหล่งอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมานานนับพันปี ปรากฏได้จากโบราณสถาน และโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของสุโขทัย คือ เครื่องสังคโลก

เครื่องสังคโลก หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในรูปภาชนะเครื่องใช้ และเครื่องประดับอาคารต่าง ๆ เช่น ถ้วย ชาม จาน ไหดิน โอ่งน้ำ ขวดดิน กระปุก ป้านน้ำชา ช้อน ตลอดดจนตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ เช่น ช้าง รูปยักษ์ รูปเทวดา พระพุทธรูป กระเบื้องมุงหลังคา สิงห์สังคโลก ลูกมะหวด ท่อน้ำ ตุ๊กตาเสียกบาล ตัวหมากรุก ช่อฟ้า บราลี ฯลฯ มีทั้งที่เคลือบน้ำยาและไม่เคลือบน้ำยา ลักษณะเด่นคือ เป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบเนื้อละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดเนื้อแตกลายงาสีเขียวไข่กา วิวัฒนาการของการเคลือบสีเขียวประณีตงดงามทำให้มีการเรียกชื่อเครื่องปั้นดินเผาสีเขียวว่า “เซลาดอน” ซึ่งเคลือบสีระดับต่าง ๆ กัน เช่น สีเขียวไข่กา สีเขียวมะกอก

การกำหนดอายุเครื่องสังคโลกจากหลักฐานที่ค้นพบเครื่องสังคโลกกับเครื่องถ้วยสีเขียวของจีนสมัยราชวงศ์หยวนในเรือที่จมใต้อ่าวไทยชื่อ เรือรางเกวียน กำหนดอายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 19 และศึกษาเปรียบเทียบเครื่องสังคโลกกับเครื่องปั้นดินเผาจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่พบที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้กำหนดเครื่องสังคโลกให้มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 การผลิตเครื่องสังคโลกเริ่มสมัยสุโขทัย แต่ได้รับการส่งเสริมเป็นสินค้าออกและขยายการผลิตจำนวนมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา การผลิตเครื่องสังคโลกลดลงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตลาดการค้า      สังคโลกเปลี่ยนแปลงคือ การที่จีนหวนกลับมาผลิตเครื่องลายครามน้ำเงิน-ขาว ซึ่งกลายเป็นที่นิยม และการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแปลงไปตามข้อเรียกร้องของชาวตะวันตกที่มีบทบาททางการเมืองในภูมิภาคนี้

คำว่า สังคโลก มีผู้สันนิษฐานไว้ต่างกัน บ้างว่ามาจากคำว่า “ซ้องโกลก” แปลว่า เตาแผ่นดินซ้อง บ้างว่ามาจากคำว่า “ซันโกโรกุ” หรือ “ซังโกโรกุ” ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “สวรรคโลก”อันเป็นชื่อที่แพร่หลายของเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัยในพงศาวดารอยุธยา ชื่อเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก จึงมีความหมายเดิมจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณเชลียงหรือศรีสัชนาลัย และเมืองที่สัมพันธ์กันคือ สุโขทัย ดังได้พบเตาผลิตมากมายในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามเตาผลิตทางภาคเหนือของไทยอีกหลายแห่งได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทที่เรียกว่า สังคโลก เช่นกัน

 

ประเภทของเครื่องสังคโลก แบ่งได้ตามลักษณะเนื้อดินและลวดลาย และแบ่งตามเตาเผา

1. ลักษณะเนื้อดินและลวดลาย เนื้อดินเป็นประเภทเนื้อแกร่ง หรือสโตนแวร์ (stoneware) ซึ่งใช้อุณหภูมิในการเผาสูงประมาณ 1150-1280 องศาเซลเชียส เทคนิคการตกแต่งทั้งการเคลือบและลวดลายมีต่าง ๆ กัน ดังนี้

¤ เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ ประดับลวดลายด้วยการใช้แม่พิมพ์กดลวดลายประทับ เช่น ลายก้านขด หรือลายเรขาคณิต มีการประดับด้วยวิธีปั้นดินแล้วแปะติดเข้ากับภาชนะก่อนเผา

¤ เครื่องถ้วยสีน้ำตาลเข้ม เป็นการเคลือบสีพื้นเดียว ลักษณะรูปแบบและสีน้ำเคลือบคล้ายกับเครื่องถ้วยลพบุรีประเภทเคลือบสีน้ำตาล

¤ เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายใต้เคลือบน้ำตาลดำ ลักษณะคล้ายเครื่องถ้วยจีนจากเสาสือโจ้ว กับเครื่องถ้วยอันหนาน (เครื่องถ้วยของเวียดนาม)

¤ เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายบนเคลือบสีน้ำตาลทอง

¤ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวไข่กา หรือ เซลาดอน ซึ่งตกแต่งลวดลายด้วยวิธีการขูดและขุดลายในเนื้อดินแล้วเคลือบทับ คล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยจีนจากเตาหลงฉวน สมัยราชวงศ์ซุ้งตอนปลายถึงราชวงศ์หยวน (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20)

ลวดลายที่ปรากฏในถ้วยชามสังคโลก เป็นลวดลายเฉพาะ ที่พบมากในจาน ชาม คือ รูปปลา กงจักร ดอกไม้ โดยเฉพาะรูปปลานั้นสันนิษฐานว่าเป็น ปลากา มิใช่ปลาตะเพียนที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน เพราะพบในชามสังคโลกใบหนึ่งมีอักษรลายสือไท เขียนบอกชื่อปลาไว้ว่า “แม่ปลาก่า” อยู่ใต้ตัวปลา ปลากา เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนมีอยู่ 2 ชนิด คือ ปลากาดำ และปลากาทรงเครื่องทั้งสองชนิดมีมากในแม่น้ำลำคลองทั่วไป โดยเฉพาะที่แม่น้ำยม

 

 

โพสท์ใน เครื่องถ้วยสังคโลก | ใส่ความเห็น

ท่องเที่ยวศรีสัชนาลัยไปกับผู้จัดทำ

ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนนะครับว่า วันนี้เราจะมาเที่ยวที่จังหวัดสุโขทัย อันเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เมื่อกว่า ๗๐๐ ปีมาแล้ว มาที่นี่แล้วสิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงก็คงหนีไม่พ้นการเดินทางมาชมโบราณสถานสำคัญๆต่างๆ ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้เป็นสมบัติของชาติที่ตกทอดมาจนสู่ลูกหลานในปัจจุบัน

ในวันนี้เราจะเดินทางไปท่องเที่ยวกันนะครับโดยที่แรกที่เราจะไป คือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัย ไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ซึ่งเราต้องเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ ๗ โมงเช้า ครับ

เมื่อถึงอุทยานเราก็ได้นั่งรถรางเข้าชมโบราณสถานต่างๆภายในเมือง(ซึ่งเดินคงไม่ไหว) โดยเป้าหมายที่เราจะไปพิชิตกันในวันนี้มีดังนี้ครับ

๑ วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสำคัญกลางเมืองศรีสัชนาลัย

๒ วัดช้างล้อม โดดเด่นด้วยเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อันเป็นประธานของวัด

๓ วัดนางพญา มีลายปูนปั้นที่สวยงามตรงผนังวิหาร ลายปูยปั้นนี้เป็นลายต้นแบบของการทำทองโบราณสุโขทัย

๔ วัดเขาพนมเพลิง(อันนี้โหดสุด) วัดนี้อยู่บนเขาสูงมีบันไดทั้งหมด ๑๑๔ ขั้นต้องออกแรงในการขึ้นจนเหงื่อตกไปตามๆกัน

๕ วัดสวนแก้วอุทยานน้อย เป็นวัดที่สำคัญอีกวัดหนึ่ง

๖ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง วัดนี้ต้องออกไปนอกเมืองแต่ไม่ไกลมาก เป็นวัดขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญ มีพระปรางค์ซึ่งเป็นศิลปะในสมัยอยุธยาตั้งเด่นสง่าเป็นประธานของวัด

๗ วัดชมชื่น เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

๘ วัดเจ้าจันทร์ ศิลปะแบบขอมที่ปรากฏอยู่ในดินแดนที่เหนือสุดของประเทศไทย

เตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลกโบราณ

เยอะใช่มั้ยครับ นี่แค่คร่าวๆ เราเอกสังคมศึกษาแค่นี้เบาๆ ครับเพราะพวกเราแข็งแรง หนักแน่น แค่นี้ชิวชิว

เมื่อกลับจากศรีสัชนาลัย ทุกคนอยู่ในสภาพอ่อนแรง ต้องการพักผ่อนเพราะ ในเช้าวันนี้พุ่งนี้เราก็ไปลุยกันต่อที่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

โพสท์ใน ท่องเที่ยวศรีสัชนาลัยไปกับผู้จัดทำ, Uncategorized | ใส่ความเห็น

กำเนิดอักษรไทย

กำเนิดอักษรไทย

            พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ โดยทรงดัดแปลงมาจากอักษรขอมหวัดและอักษรไทยเดิม ซึ่งดัดแปลงมาจากอักษรมอญและคิดอักษรไทยขึ้นใหม่ให้มีสระ  และวรรณยุกต์ให้พอใช้กับภาษาไทย และทรงเรียกอักษรดังกล่าว ลายสือไทย ดังมีกล่าวในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงตอนหนึ่งว่า

        “เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึงมีพ่อขุนรามคำแหงผู้นั้นใส่ไว้…” (ปี ๑๒๐๕ เป็นมหาศักราชตรงกับพุทธศักราช ๑๘๒๖)

ภาษาเขียนของคนไทยเกิดขึ้นหลังจากที่คนไทยสร้างเมืองของตนเองขึ้นแล้ว คือ สุโขทัย เมื่อปี  พ.ศ. ๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ ๓  ของเมืองสุโขทัย ทรงจารึกเรื่องตัวหนังสือไทยไว้ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า
เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปี ที่แล้วมา เมืองสุโขทัยของคนไทยนับว่าเป็นเมืองใหม่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านั้นชนชาติอื่นๆ  รอบด้าน มีการรวมตัวกันเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้วและที่เป็นเมืองแล้วต่างก็มีภาษาเขียนเป็นของตนเองทั้งสิ้น เมืองเขมร เมืองมอญ เมืองพม่า ล้วนมีภาษาเขียนของตนเองก่อนคนไทย ในยุคนั้นและก่อนหน้านั้นเท่าที่ปรากฏในอินเดีย ลังกา และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจารึกเรื่องของการปกครองเมือง ศาสนา และประชาชน นับเป็นประเพณีนิยมของกษัตริย์ทั่วไป เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นปกครองเมือง เมื่อมีการทำสงคราม การทำบุญครั้งใหญ่ หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นในเมือง ก็เป็นประเพณีของกษัตริย์ที่จะทรงบันทึกเรื่องราวไว้ ในอินเดียและลังกา มีการเก็บบันทึกจารึกต่างๆ ทั้งของวัดและกษัตริย์นับได้เป็นจำนวนแสน ประเพณีการจารึกเรื่องราวนี้ได้แพร่หลายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และในย่านนี้จารึกโบราณมีทั้งภาษาบาลีสันสกฤต และต่อมาก็มีจารึกเป็นภาษาของคนพื้นเมืองด้วย คนไทยคงจะใช้ตัวอักษรอื่นที่ใช้แพร่หลายกันอยู่ในย่านนั้นมาก่อนซึ่งมีทั้งอักษรมอญและขอม แต่เมื่อคนไทยมีเมืองเป็นของตนเอง มีกษัตริย์ไทยเองแล้ว แรงผลักดันที่จะต้องมีตัวอักษรของตนเองเพื่อบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์และเมืองตามประเพณีอยู่ในขณะนั้นก็ย่อมเกิดขึ้น การใช้ภาษาของไทยเองย่อมจะทำให้เมืองไทยมีฐานะเท่าเทียมกับเมืองอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เราอาจนับว่าการเป็นเมืองและประเพณีการจารึกเรื่องราวของกษัตริย์และเมือง เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น
ตัวอักษรที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นตัวเขียนที่มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีที่แล้ว เข้าใจว่าคงจะได้เปรียบเทียบหรือปรับปรุงจากตัวอักษรที่มีใช้อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ตัวหนังสือในปัจจุบันแตกต่างไปจากสมัยสุโขทัยมากแต่ระบบของตัวพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ยังคงเดิม
อักษรไทยมีใช้มานานประมาณ ๗๐๐ ปีแล้วจึงเป็นธรรมดาที่จะมีลักษณะแตกต่างไปจากภาษาในปัจจุบันทั้งในด้านการเขียนและการแทนเสียงและเพราะเหตุว่าตัวเขียนไทยเป็นตัวอักษรแทนเสียงระบบภาษาเขียนจึงเป็นเสมือนบันทึกของลักษณะเสียงของภาษาไทยเมื่อสมัยประมาณ ๗๐๐ ปี มาแล้วได้เป็นอย่างดี นักภาษาศาสตร์สามารถใช้วิธี การที่เป็นวิทยาศาสตร์อธิบายให้เห็นว่าเสียงของภาษาในสมัยสุโขทัยต่างไปจากเสียงในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์

ลักษณะอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหง

        ๑.      อักษรสมัยพ่อขุนรามคำแหงดัดแปลงมาจากอักษรขอมหวัด มีดังนี้คือ ก ข ค ฆ ง จ ฉ ช ญ ฎ ฐ ณ ต ถ ท ธ น ป ผ พ ภ ม ย ร ล ว ศ ษ ส ห และได้เพิ่มพยัญชนะและวรรณยุกต์ให้พอกับภาษาไทยในสมัยนั้น ได้แก่ ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ และวรรณยุกต์เอก และโท
๒.      สระและพยัญชนะเขียนเรียงอยู่ในบรรทัดเดียวกัน และสูงเสมอกัน เขียนสระไว้หน้าพยัญชนะ ยกเว้นสระอะ   สระอาเขียนอยู่ข้างหลัง ส่วนวรรณยุกต์เขียนไว้ข้างบน
๓.      สระอะเมื่อมีตัวสะกด ใช้พยัญชนะซ้อนกัน เช่น น่งง (นั่ง) ขบบ (ขับ)
๔.      สระเอีย ใช้ ย แทน เช่น สยง (เสียง) ถ้าไม่มีตัวสะกดใช้สระอี   โดยไม่มีไม้หน้า
๕.      สระอัว ที่ไม่มีตัวสะกด ใช้ วว เช่น ตวว (ตัว)
๖.      สระอือและสระออที่ไม่มีตัวสะกด ไม่ใช้ อ เช่น ชี่ (ชื่อ) พ่ (พ่อ)
๗.      สระอึ ใช้สระอิและสระอีแทน เช่น ขิ๋น (ขึ้น) จี่ง (จึ่ง)
๘.      ตัว ม ที่เป็นตัวสะกดใช้นฤคหิต เช่น กลํ (กลม)
ฯลฯ

             อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหง  ใช้แพร่หลายในเขตล้านนา ล้านช้าง และกรุงศรีอยุธยา  ต่อมาชาวล้านนาและชาวล้านช้างเลิกใช้อักษรไทยสมัยกรุงสุโขทัยและใช้อักษรของพวกลื้อ ซึ่งเป็นอักษรไทยพวกหนึ่งแทน     ส่วนกรุงศรีอยุธยายังคงใช้อักษรไทยและดัดแปลงแก้ไขมาเป็นระยะ ๆ จนเป็นเช่นอักษรไทยปัจจุบัน

โพสท์ใน อักษรไทย, Uncategorized | ใส่ความเห็น

ศิลาจารึก

ศิลาจารึก หลักที่ 1พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ประวัติการค้นพบ

        ขณะสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้เสวยราชย์  และทรงผนวชประทับอยู่ ณ วัดราชาธิราชนั้นได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือในพ.ศ.๒๓๗๖ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสุโขทัย ได้ทรงพบศิลาจารึก๒หลัก และแท่นหิน ๑ แท่น ตั้งอยู่ที่เนินปราสาทในพระราชวังเก่าสุโขทัย ต่อมาภายหลังปรากฎว่าเป็นศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักหนึ่งศิลาจารึกภาษาขอมของพระมหาธรรมราชาลิไทยหลักหนึ่งและแท่นหินนั้นคือ พระที่นั่งมนังคศิลาบาตรพระองค์ได้โปรดให้นำโบราณวัตถุทั้งสามชิ้นกลับมายังพระนคร และได้ทรงพยายามอ่านศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง  จนทราบว่าจารึกนี้สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๕

      ภายหลังเมื่อได้เสวยสิริราชสมบัติแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากวัดบวรนิเวศไปตั้งไว้ที่ศาลารายภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ข้างด้านเหนือพระอุโบสถหลังที่สองนับจากตะวันตก จนถึงปี       พ,ศ.๒๔๖๖จึงได้ย้ายมาไว้ที่หอสมุดวชิรญาณในปีพ.ศ.๒๔๖๘จึงโปรดเกล้าให้ย้ายจารึกมาเก็บไว้ณพระที่นั่งศิวโมกขพิมานพ.ศ.๒๕๑๑ จึงได้ย้ายเฉพาะศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไปตั้งที่อาคารสร้างใหม่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครด้านเหนือชั้นบน ซึ่งเป็นห้องแสดงศิลปะสมัยสุโขทัยเพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และได้จัดทำศิลาจารึกหลักจำลองขึ้นเก็บรักษาไว้ที่หอวชิราวุธแทน

ลักษณะของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

   ลักษณะของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นหินชนวนสี่เหลี่ยมมียอดแหลมปลายมน สูง ๑ เมตร ๑๑ เซนติเมตร มีข้อความจารึกทั้ง ๔ ด้าน สูง ๕๙ เซนติเมตรกว้าง ๓๕ เซนติเมตร ด้านที่ ๑และ๒ มี ๓๕ บรรทัด ด้านที่ ๓และด้านที่ ๔ มี ๒๗ บรรทัด

  การบันทึกของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแบ่งออกเป็น ๓ ตอน

ตอนที่ ๑ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๑ – ๑๘เป็นเรื่องของพ่อขุนรามคำแหงทรงเล่าประวัติพระองค์เอง  ตั้งแต่ประสูติจน  เสวยราชย์ใช้สรรพนามแทนชื่อของพระองค์ว่ากู

ตอนที่ ๒ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๑๙ เล่าเหตุการณ์ต่างๆและขนบปรพเพณีของกรุงสุโขทัยเล่าเรื่องการสร้างพระ แท่นมนังคศิลาบาตร สร้างวัดมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัยและการประดิษฐ์อักษรไทยใช้พระนามว่าพ่อขุนรามคำแหง

ตอนที่ ๓ คงจารึกต่อจากตอนที่๒หลายปีเพราะรูปร่างอักษรต่างไปมากกล่าวสรรเสริญและยอพระเกียรติของพ่อขุนรามคำแหงบรรยากาศถูมิสถานบ้านเมือง และขอบเขตของอาณาจักรสุโขทัย 

 

ศิลาจารึกด้านที่ ๑

 

 ศิลาจารึกด้านที่ ๒ 

 ศิลาจารึกด้านที่ ๓

ศิลาจารึกด้านที่ ๔                           

คุณค่าของศิลาจารึก

              ศิลาจารึกนี้แม้มีเนื้อความสั้นเพียง ๑๒๔ บรรทัดแต่บรรจุเรื่องราวที่อุดมด้วยคุณค่าทางวิชาการหลายสาขา ทั้งในด้านนิติศาสตร์รัฐศาสตร์ เศรษฐกิจสังคม ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี ศาสนา และจารีตประเพณีด้านนิติศาสตร์ ศิลาจารึกหลักนี้อาจถือว่า เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญเทียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษมีการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรักษาสิทธิมนุษยชน เห็นได้จากข้อความที่กล่าวถึงมีการคุ้มครองเชลยศึก นอกจากนี้ ยังมีข้อความเสมือนเป็นบทบัญญัติในกฎมณเฑียรบาลและบทบัญญัติในกฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัวและมรดกตลอดจนการพิจารณาความแห่งและอาญา

   ด้านนิติศาสตร์

          ศิลาจารึกหลักนี้อาจถือว่า เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญเทียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษ มีการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรักษาสิทธิมนุษยชน เห็นได้จากข้อความที่กล่าวถึง มีการคุ้มครองเชลยศึก นอกจากนี้ ยังมีข้อความเสมือนเป็นบทบัญญัติในกฎมณเฑียรบาลและบทบัญญัติในกฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัวและมรดก ตลอดจนการพิจารณาความแพ่งและอาญา

ด้านรัฐศาสตร์ 

          ศิลาจารึกหลักนี้ได้กล่าวถึงความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์กับประชาชนว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดให้ข้าราชบริพารเข้าเฝ้าปรึกษาราชการได้ทุกวัน ยกเว้นวันพระ และเปิดโอกาสให้ราษฎรมาสั่นกระดิ่งเพื่ออุทธรณ์ฎีกาได้ทุกเมื่อ

ด้านเศรษฐกิจ

          ข้อความที่จารึกไว้ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในสมัยสุโขทัยนั้น มีความมั่นคงมาก นอกจากนี้ยังมีการชลประทาน การเกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ และการค้าขายก็ทำโดยเสรี

 ด้านประวัติศาสตร์

          ศิลาจารึกหลักนี้ช่วยให้เราได้ทราบถึงประวัติความรุ่งเรืองชองชาติไทยในยุคสุโขทัย และประวัติเรื่องราวอื่นๆ เช่น ประวัติราชวงศ์สุโขทัย ประวัติการรวบรวมอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่น ประวัติการค้าโดยเสรี ประวัติการสืบสร้างพระพุทธศาสนา และการประดิษฐ์ลายสือไทย 

       ศิลาจารึกหลักนี้ได้ระบุอาณาเขตของสุโขทัยไว้อย่างชัดแจ้ง กล่าวถึงว่าทิศตะวันออก จดเวียงจันทน์ เวียงคำ ทิศใต้จดศรีธรรมราช และฝั่งทะเล ทิศตะวันตกถึงหงสาวดี ทิศเหนือถึงเมืองแพร่ น่าน พลั่ว มีการกล่าวถึงชื่อเมืองสำคัญต่างๆ หลายเมือง เช่น เชลียง เพชรบุรี นอกจากนี้ยังได้พรรณนาแหล่งทำมาหากินและและแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเมืองสุโขทัยไว้

ด้านภาษาศาสตร์

          ลายสือไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีความสมบูรณ์ทั้งสระและพยัญชนะ สามารถเขียนคำภาษาไทยได้ทุกคำ และสามารถเลียนเสียงภาษาต่างประเทศได้ดีกว่าอักษรแบบอื่นๆ เป็นอันมาก มีการใช้อักขรวิธีแบบนำสระและพยัญชนะมาเรียงไว้ในบรรทัดเดียวกัน ซึ่งทำให้ประหยัดทั้งเนื้อที่และเวลาในการเขียน ภาษาเป็นสำนวนง่ายๆ และมีภาษาต่างประเทศบ้าง ประโยคที่เขียนก็ออกเสียงอ่านได้เป็นจังหวะคล้องจองกันคล้ายกับการอ่านร้อยกรองด้านวรรณคดี ศิลาจารึกหลักนี้จัดว่าเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทย เพราะมีข้อความไพเราะลึกซึ้งและกินใจ ก่อให้เกิดจินตนาการได้งดงาม

ด้านศาสนา

        ข้อความในศิลาจารึกนี้ มีหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ได้รับการอุปถัมภ์เชิดชูอย่างดียิ่ง ประชาชนชาวไทยได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองสูงส่ง มีการสร้างปูชนียสถานและปูชนียวัตถุไว้เป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาในพระศาสนา จึงมีศิลปะงดงามยิ่ง แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถจะสร้างให้งามทัดเทียมได้ด้านจารีตประเพณี ศิลาจารึกหลักนี้ช่วยให้ทราบว่า สมัยสุโขทัยนั้นมีหลักจารีตประเพณีหลายประการที่ประชาชนนับถือและปฏิบัติกันอยู่ มีทั้งประเพณีทางพระพุทธศาสนาและประเพณีอื่น ๆ เช่น ประเพณีรักษาศีลเมื่อเข้าพรรษา ประเพณีฟังธรรมในวันพระ ประเพณีการทอดกฐิน ประเพณีการเผาเทียนเล่นไฟ เป็นต้น

      ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้ เป็นเอกสารที่สำคัญยิ่งชิ้นหนึ่งของชาติไทย เป็นมรดกอันล้ำค่าและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง มีสาระประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองนานัปการ ควรพิทักษ์รักษาไว้ให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดกาล

 

         

โพสท์ใน ศิลาจารึก | ใส่ความเห็น

ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทง

            เมื่อเราได้ยินเพลง “รำวงลอยกระทง” ที่ขึ้นต้นว่า “วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง…” นั่นเป็นสัญญาณว่าใกล้จะถึงวันลอยกระทงแล้ว ซึ่งเพลงนี้เป็นที่คุ้นหูของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะในต่างประเทศมักเปิดเพลงนี้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อแสดงถึงความเป็นประเทศไทย

          ประวัติการลอยกระทง

           ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน ประเพณีลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 12 เริ่มขึ้นครั้งแรก ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬารัตน์ พระสนมเอกแห่งพระร่วงเจ้า เป็นผู้ให้กำเนิด ประเพณีลอยกระทงได้เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ. 1800 ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศ ผู้เป็นพระสนมเอกของพระร่วงเจ้าว่า “ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่างๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้ป็นลวดลาย…” เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงมีพระราชโองการฯให้จัดพิธีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองพระราชพิธีนี้จึงได้ถือปฏิบัติเป็นประจำจนกระทั่งบัดนี้

ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศที่ว่า

“ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย…”

เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน” พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า “เรือลอยประทีป” ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย

เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง

 สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่

1.เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด

2.เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทท

3.เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

4.เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้

5.เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

6.เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน

7.เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้อีกด้วย

โพสท์ใน ประเพณีลอยกระทง | ใส่ความเห็น

ทองโบราณสุโขทัย

ทองโบราณสุโขทัย

ประวัติทองสุโขทัย

        ดินแดนแห่งอารยธรรมสุโขทัย มีสิ่งที่น่าภูมิใจและยังมีตกทอดมาถึงลูกหลานปัจจุบัน คือ การทำทองโบราณสุโขทัย จาดอดีต ที่ยิ่งใหญ่จวบจนปัจุบันจากสองมือลูกหลาน  ได้สืบทอดมรดกอันล้ำค่าในการสร้างสรรค์เครื่องประดับบนเนื้อทองที่ได้มาตราฐาน ด้วยลวดลายที่มีเอกลักษณ์เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงที่มีมาแต่โบราณ บางคนกล่าวว่าลายทองโบราณที่งดงามนี้คล้ายคลึงหรือมีต้นแบบที่เหมือนกับลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรอ่อนช้อย จากผนังวิหารของวัดนางพญา ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

        ทองคำจัดได้ว่าเป็นหลักทรัพย์  ที่ทุกคนิยมสะสมเป็นสมบัติส่วนตัวเพราะนอกจากจะมีค่าแทนเงินแล้วทองรูปพรรณยังมีความสวยงาม  มีศิลปะอันทรงคุณค่าอยู่ในตัวจากอดีตจนถึงปัจจุบันทองถูกใช้เป็นของกำนัลอันมีค่าที่มอบให้แก่กันในโอกาสพิเศษต่าง ๆ

       ทองสุโขทัยหรือที่ผู้คนทั่วไปนิยมเรียกกันจนติดปากว่า “  ทองโบราณ ” ก็คือทองสุโขทัยที่ทำลวดลายเลียนแบบทองโบราณ  โดยใช้ทองเปอร์เซ็นต์สูงถึง 99.99 %  ในการผลิตชิ้นงาน และเป็นงานหัตถกรรมที่ผลิตด้วยมือ โดยอาศัยเครื่องมือที่ผลิตขึ้นมาใช้เองอย่างง่าย ๆ   ด้วยช่างที่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้าน

ต่างหูสวยงามจากทองโบราณสุโขทัย

การประยุกต์ทองโบราณให้มีลักษณะเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันแต่ยังคงไว้ด้วยเอกลักษณ์

ปัจจุบันทองสุโขทัยนี้ ถือว่ามีชื่อเสียงมาก และราคาค่อนข้างสูงด้วยความที่เป็นเอกลัษณ์เฉพาะท้องถิ่น และมีจำนวนร้านจำหน่ายที่ไม่มาก เหมาะแก่การซื้อเป็นที่ระลึก หรือให้เป็นของขวัญในโอกาสพิเศษก็น่าจะประทับใจแก่ผู้รับเป็นอย่างมาก

โพสท์ใน ทองโบราณสุโขทัย, Uncategorized | ใส่ความเห็น

การเดินทางทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดสุโขทัย ในช่วงระหว่างวันที่ ๓๑ สิงหาคม ถึง ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ในรายวิชาลักษณะไทย ซึ่งเป็นการเดินทางที่แสนพิเศษและน่าประทับใจ ที่ได้ทั้งเนื้อหาความรู้ และประสบการณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การนำไปประกอบวิชาชีพครูในอนาคต

สถานที่หลักๆที่ไปศึกษา มีอยู่ ๒ ที่หลักคือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งสถานที่ทั้งสองแห่งได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลก ซึ่งน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

นี่เป็นภาพหมู่คณะ เขาเรา ทั้ง อาจารย์และเพื่อนๆ ชั้นปีที่๔ วิชาเอกสังคมศึกษาที่น่ารักทุกๆคน แต่จากรูปภาพตอนนี้ทุกคนอยู่ในสภาพเหนื่อยล้า ต้องขึ้นบันได วัดเขาพนมเพลิงทั้งหมดถึง 114 ขั้น(ขอบอกว่าเหนื่อยมากๆๆๆ เหงื่อตกไปตามๆกัน)แต่เมื่อเจอกล้องทุกคนก็ยิ้ม

เเม้ความเหน็ดเหนื่อยจากอากาศที่ร้อนเมื่อเจอกล้องเราก็ยิ้ม ที่ศรีสัชนาลัยในวันนี้ เราได้นั่งรถรางนำชมอุทยานด้วยขอบอกว่าสนุกมากๆ

กราบสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่อความเป็นสิริมงคล ในภาพนี้มีคนเกินมาหนึ่งคน เป็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขาคงจะชอบพวกเรามาก(หรือเปล่า)อันนี้ไม่รู้นะ ถึงขนาดมาขอถ่ายรูปด้วย

โพสท์ใน ยลโฉมสุโขทัยไปกับผู้จัดทำ | ใส่ความเห็น

พระพุทธรูปสุโขทัย หมวดพุทธชินราช

             พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระองค์ค่อนข้างอวบอ้วน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่มีปลายเสมอกัน มีลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการอยู่มาก หมวดนี้เชื่อกันว่าคงเริ่มสร้างครั้งแผ่นดินพระเจ้าลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรือหลังกว่านั้น

หากต้องการชมพระพุทธชินราชที่งดงามที่สุด ต้องมาที่พระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จัดเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย และได้รับการขนานนามว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในโลกองค์หนึ่ง ถึงขั้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้ชลอมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่ทรงรับฟังคำทูลขอร้องของชาวพิษณุโลก ที่ว่าพระพุทธชินราชองค์นี้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง จึงทรงตัดสินพระทัยหล่อ พระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นมาแทน

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในปีใด แต่มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดารเหนือ คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ในรัชสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) จากนั้นจึงมีการลงรักปิดทององค์พระเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะ ลงรักปิดทองอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการบูรณะครั้งล่าสุดในรัชกาลที่ 9 พระพุทธชินราชนี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย หมวดพระพุทธชินราชลักษณะขององค์พระเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขโนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน อยู่ในลักษณะปางมารวิชัย ด้านซ้ายและขวาขององค์พระมียักษ์ 2 ตน คอยปกปักรักษาองค์พระอยู่ อีกทั้งยังมีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกอยู่ด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีซุ้มเรือนแก้วที่คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาลักษณะเป็นรูปตัวเหรา ถือเป็นศิลปะที่สวยงามมากอย่าหนึ่ง พระพุทธชินราชประดิษฐานในวิหารลักษณะเก้าห้อง ซึ่งมีการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ทำให้องค์พระสวยงามบริบูรณ์อย่างในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์ยังพบว่ากษัตริย์ในทุกๆสมัยของไทยให้ความเคารพและศรัทธาต่อองค์พระพุทธชินราชมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ พระองค์

โพสท์ใน หมวดพระพุทธชินราช | ใส่ความเห็น